โรคหวัดในเด็กเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยที่สุดสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น Rhinovirus , Influenza virus มักมีอาการไม่รุนแรงทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของเชื้อไวรัส โรคนี้มักพบบ่อยในฤดูหนาวที่มีอากาศเย็นและความชื้นสัมพัทธ์ต่ำโดยเด็กมีโอกาสเป็นหวัดปีละประมาณ 6 – 8 ครั้งและจะพบน้อยลงเมื่อโตขึ้นส่วนผู้ใหญ่พบได้ปีละประมาณ 2 – 3 ครั้ง โดยชายและหญิงมีโอกาสเกิดโรคได้พอๆกันนะคะ
สารบัญความรู้
Toggleปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมีดังนี้
- สภาพอากาศ หากอากาศเย็นและความ ชื้นสัมพัทธ์ต่ำจะมีโอกาสเกิดโรคสูง
- การอยู่ในที่ชุมชนที่มีผู้ป่วยติดเชื้อโรคหวัด
- ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคหวัดเช่น อยู่ในโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็ก
- ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง
อาการของโรคเป็นอย่างไร
- ในเด็กทารกและในเด็กเล็ก: ระยะแรกมักจะมีอาการไข้ โดยตรวจไม่พบความผิดปกติอื่นๆ ต่อมาก็จะเริ่มมีน้ำมูกไหล ไอ จาม ร้องกวน และน้ำมูกจะทำให้เกิดการหายใจลำบาก อาจมีอาการอาเจียน และท้องร่วงร่วมด้วยในเด็กบางคน
- เด็กโตจะเริ่มด้วยอาการจาม คอแห้ง ปากแห้ง บางคนมีอาการหนาวๆร้อนๆและปวดเมื่อยตามตัว ตามมาด้วยน้ำมูกไหลซึ่งในระยะแรกจะเป็นน้ำมูกใสๆ ต่อมาจะปนสีเหลืองหรือเขียวหรือเป็นหนองจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนนั่นเอง
อาการต่างๆเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 2 ถึง 7 วัน ถ้ามีอาการนานกว่านี้ให้สงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อน หรือมีสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่โรคหวัด โดยทั่วไปโรคหวัดในเด็กถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ มักจะหายเอง ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่ถ้ามีอาการหวัดนานเกิน 7 วันแล้วไม่หาย ควรต้องรีบนำเด็กไปพบแพทย์นะคะ
การรักษาทำอย่างไร
โรคหวัดนั้นไม่มีการรักษาจำเพาะแพทย์จะใช้วิธีรักษาประคับประคองตามอาการเช่น
- ให้ยาลดไข้และเช็ดตัวลดไข้ กรณีมีไข้
- ให้ยาที่ช่วยให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้นเพื่อให้หายใจสะดวก
- ให้น้ำเกลือ (Normal saline)สำหรับ หยอดจมูกเพื่อล้างน้ำมูกที่เหนียวออกจากโพรงจมูก
- ในเด็กเล็กๆจะให้ยาหยอดจมูกก่อนกินนมหรือก่อนนอนเพื่อให้เด็กหายใจคล่อง
- ให้ยาลดน้ำมูก/ยาแก้แพ้
- ให้ยาละลายเสมหะ/ยาขับเสมหะ
- ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่
ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาให้ยาเป็นรายๆไปค่ะ