นิ้วล็อคเป็นอาการที่เรามักไม่ได้ให้ความสนใจมากเท่าที่ควร จนกระทั่งมันเกิดขึ้นแล้วจึงค่อยหาวิธีแก้ไข นั่นก็เพราะเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวและไม่มีสัญญาณเตือน
นิ้วล็อคสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยทั้งคนที่ทำงานออฟฟิศ ซึ่งต้องใช้นิ้วมือในการทำงาน เช่นการพิมพ์คีย์บอร์ด คนที่ใช้สมาร์ตโฟนบ่อย ๆ ยิ่งถ้าใช้นาน ๆ อาจพบอาการนิ้วล็อคได้ นอกจากนั้นในหญิงวัยกลางคนอายุ 40 ขึ้นไปอาจมีโอกาสเกิดโรคนิ้วล็อคขึ้นได้เช่นเดียวกัน
สารบัญความรู้
Toggleซึ่งหลายคนอาจเกิดความสงสัยว่าโรคนิ้วล็อคนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?
คำตอบก็คือนิ้วล็อคเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเอ็นนิ้วบริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้ว ทำให้ขยับนิ้วได้ไม่ดี เมื่องอนิ้วแล้วไม่สามารถงอกลับคืนได้ เหมือนนิ้วถูกล็อคไว้ แล้วพฤติกรรมใดบ้างที่นำไปสู่อาการดังกล่าว
- ผู้ที่ใช้มือในการเล่นกีฬาชนิดต่าง ๆ หนักเกินไป
- ผู้ที่ใช้มือทำงานอย่างต่อเนื่องนานเกินไปโดยไม่พัก เช่น พนักงานออฟฟิศ ช่างทำผม ทันตแพทย์เป็นต้น
- ผู้ที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือต่อเนื่องนานเกินไป
- ผู้ที่ใช้นิ้วพิมพ์งานนานเกินไปโดยไม่พัก
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคเบาหวาน โรครูมาตอยด์ โรคไต
อาการของโรคนิ้วล็อค แบ่งออกเป็น 4 ระยะได้แก่
ระยะที่ 1 มีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ เมื่อกดบริเวณฐานนิ้วมือด้านหน้าจะมีอาการปวดเพิ่มขึ้นแต่ไม่มีอาการสะดุด
ระยะที่ 2 มีอาการสะดุดเวลางอ หรือ ขยับนิ้ว
ระยะที่ 3 งอนิ้วมือลงแล้วมีอาการติดล็อคเหยียดออกเองไม่ได้ต้องใช้มืออีกข้างหนึ่งช่วยแกะหากเป็นมากจะงอนิ้วลงเองไม่ได้
ระยะที่ 4 มีการอักเสบ ปวดและบวมของนิ้วมือไม่สามารถเหยียดนิ้วให้ตรงได้
การรักษาโรคนิ้วล็อค
แท้จริงแล้วการรักษาอาการนี้มีหลายวิธี โดยแต่ละวิธีจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและอาการ
- นวดเบา ๆ และประคบน้ำร้อน ทำกายภาพบำบัด หรือใช้เครื่องดามนิ้ว
- บริหารเหยียดนิ้วทุกวันออกกำลังกายเพื่อยืดเส้นทำให้นิ้วเคลื่อนที่ได้เป็นปกติ
- ให้ยาแก้ปวด แก้อักเสบ ลดบวม เช่น ยากลุ่ม Nsaids หากอาการปวดยังไม่รุนแรงมากอาจให้ยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวดเบื้องต้นได้
- ฉีดยาสเตอรอยด์เพื่อลดการอักเสบ บวมของเส้นเอ็นโดยแต่ละนิ้วที่เป็นไม่ควรฉีดเกิน 2 – 3 ครั้ง
- การผ่าตัดเพื่อตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาอยู่ให้เปิดกว้างขึ้นทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนที่ได้สะดวก
วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดนิ้วล็อค
- อย่าหิ้วของหนักเกินไป ให้ใช้วิธีการอุ้มหรือใช้รถเข็นช่วย
- ใส่ถุงมือ หรือใช้ผ้าช่วย กรณีที่ต้องใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น เลื่อย ค้อน ไขควง ในการทำงาน
- หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมือในการทำกิจกรรม เช่นการซักผ้า และ การบิดผ้าแรง ๆ ด้วยมือ
- หากมีความผิดปกติของข้อหรือเกิดการเมื่อยล้าของมือในตอนเช้าให้แช่น้ำอุ่นและขยับข้อมือ กำมือ แบมือน้ำเบา ๆ 5 – 10 นาที
- ห้ามดัดนิ้วเล่นเพราะจะทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเอ็น
- หากเกิดอาการนิ้วล็อคควรงดใช้งาน และทำการรักษา
อย่าเพลินกับการใช้นิ้วของคุณทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือสไลด์หน้าจอมือถือของคุณเป็นเวลานานเกินไปจนเกิดอาการนิ้วล็อคขึ้นนะครับ พักบ้าง ป้องกันดีกว่ารักษาครับ